ต้อกระจก ท่านเคยสังเกตุตนเองหรือไม่ว่า ท่านมีอาการเหล่านี้หรือไม่?
- สายตาค่อย ๆ มัวลง
- เห็นภาพเป็นเงาซ้อน
- เห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นแฉก
- มองเห็นสีต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม
- อ่านหนังสือตัวเล็กไม่เห็น
ต้อกระจกคืออะไร (Cataract) คืออะไร?
- สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ พบในคนสูงอายุ เป็นการเสื่อมไปตามวัย พบว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 60 ปี เป็นต้อกระจก
- เกิดจากอุบัติเหตุ ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา
- พบในเด็ก โดยมาตั้งแต่กำเนิด สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรมการติดเชื้อบางชนิดหรือบางรายเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ของตาหรือของร่างกาย เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ เบาหวาน
- เกิดจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาพวกสเตียรอยด์
ถ้าเป็นต้อกระจกแล้วต้องรักษาอย่างไร?
การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เดิม ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทานหรือยาหยอดตาที่ใช้ป้องกันและรักษาต้อกระจกให้หายได้
การผ่าตัดต้อกระจกทำอย่างไร?
1. การผ่าแผลเล็กหรือการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) วิธีนี้ จักษุแพทย์จะใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาทำให้เนื้อเลนส์แก้วตาสลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดูดออกมาได้ เครื่องมือที่ใช้สอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตานั้นมีขนาดเล็ก จึงทำให้มีแผลผ่าตัดเพียง 3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงหายเร็วขึ้น ทำให้สายตาชัดเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลงและกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
2. การผ่าแผลใหญ่หรือการผ่าต้อกระจก (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE ) การผ่าตัดวิธีนี้มีการเปิดแผลใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อคีบเอาเลนส์ออกมาทั้งชิ้น ทำให้ดวงตามีการกระทบกระเทือนมากกว่า ต้องพักฟื้นนานกว่า ทั้งสองวิธีสามารถใช้เลนส์เทียมเข้าทดแทนเลนส์เดิมที่ผ่าออกมาได้
ถ้าไม่ผ่าตัดต้อกระจกได้หรือไม่?
เมื่อปล่อยให้ต้อกระจกสุกเต็มที่ (Mature Cataract) จะทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมากจนกระทั่งไม่สามารถใช้เทคนิคการผ่าแผลเล็ก หรือการสลายต้อกระจกได้ ถ้าจะผ่าต้องทำการผ่าแบบแผลใหญ่แทน
ถ้าต้อกระจกสุกเต็มที่จนกระทั่งถุงหุ้มเลนส์แตก อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของดวงตาได้ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน
เลนส์แก้วตาเทียม จะมีอายุการใ้งานได้นานเท่าไหร่?
เลนส์แก้วตาเทียมเป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เป็นการถาวร ไม่มีการหมดอายุหรือต้องคอยเปลี่ยนใหม่เมื่อเวลาผ่านไป
การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียม ควรเลือกอย่างไร?
เลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ
- ระยะเดียว (Monofocal IOL) เป็นเลนส์มาตราฐานที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการมองไกล ทำให้ผู้ป่วยมองไกลได้ชัดขึ้น แต่ในเวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ อาจต้องใส่แว่นมองใกล้เพิ่ม
- เลนส์หลายระยะ (Multifocal IOL) ใช้ดูได้ทั้งระยะใกล้และไกล
- เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) ในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่แล้วก่อนผ่าตัด เพื่อทำให้สายตาเอียงลดน้อยลง