หากบาดแผลมีความรุนแรง มีการติดเชื้อ หรือควรได้รับ การรักษาจากแพทย์ เมื่อไปพบแพทย์ อาจได้รับการรักษาและทำแผลดังต่อไปนี้
- ล้างทำความสะอาดบาดแผล
- แพทย์อาจใช้ยาชาทาหรือฉีดบริเวณที่เกิดแผล เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดในขณะทำแผล
- ในบางกรณี แพทย์อาจต้องเย็บปิดแผลหรือใช้กาวติดผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลเข้าด้วยกัน และนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการตัดไหมหรือตรวจแผล 5-10 วันให้หลัง
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบาดแผลและสูญเสียเนื้อเยื่อไปมาก แพทย์อาจพิจารณาไม่เย็บปิดแผลที่เกิดขึ้น แต่จะเปิดแผลทิ้งไว้เพื่อให้แผลสมานตัวตามกลไกธรรมชาติ
- หลังทำแผลแล้ว แพทย์อาจใช้ผ้าปิดหรือพันรอบแผลไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเข้าสู่แผลได้
- ในบางรายที่แผลอาจมีการปนเปื้อน แพทย์อาจให้เปิดแผลไว้ก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่าแผลสะอาดดีแล้ว และไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เพราะการเย็บปิดแผลอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้ จากนั้นจึงค่อยเย็บปิดแผล
- แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีแผลถูกวัตถุปลายแหลมแทงเข้าไปค่อนข้างลึก หรือแผลที่ถูกสัตว์กัด
- แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน หรือยาตัวอื่น ๆ ในกรณีที่แผลมีการติดเชื้อ หรือแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
- ในรายที่เนื้อเยื่อมีการติดเชื้อและเกิดความเสียหายบอบช้ำ แพทย์อาจต้องนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อและเนื้อเยื่อบางส่วนในบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย
- แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยในรายที่มีบาดแผลรุนแรง เช่น เกิดบาดแผลโดยมีชิ้นส่วนอวัยวะร่างกายหลุดออกไป ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที โดยห่ออวัยวะที่หลุดออกด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำใส่ในภาชนะปิดสนิทที่สะอาดแล้วแช่ในน้ำแข็งแล้วนำมาโรงพยาบาลด้วย